อาการรถกระตุก เครื่องยนต์สะดุด มีสาเหตุจากอะไรบ้าง

เมื่อสตาร์ทรถ แล้วรถมีอาการกระตุกหรือเครื่องยนต์สั่นมากจนผิดสังเกต รวมถึงตอนขับปกติและเร่งความเร็ว เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง และแก้ไขอย่างไร

  1. ยางแท่นเครื่องเสื่อม เป็นสาเหตุยอดนิยมที่ทำให้เกิดอาการเครื่องสั่น อาจเกิดจากยางแท่นเครื่องชำรุด เนื่องจากยางแท่นเครื่องมีหน้าที่ดูดซับแรงสั่นสะเทือนขณะที่เครื่องกำลังหมุน เมื่อใช้งานไปนาน ๆ จะเกิดอาการเสื่อมหรือฉีกขาด

วิธีแก้ไข ควรให้ช่างเปลี่ยนยางแท่นเครื่องใหม่ โดยปกติแล้วเมื่อมีอายุการใช้งานครบ 100,000 กิโลเมตร ควรเปลี่ยนใหม่ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้นานขึ้น เมื่อเจอทางขรุขระ, ลูกระนาด, หลุม, หรือเศษหินเกลื่อนกลาดอยู่ตามพื้นถนน ควรลดความเร็วลง หรือใช้ความเร็วต่ำ

  1. หัวเทียนเสื่อมสภาพ ปัญหาหัวเทียนเสื่อมสภาพสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นอกจากจะทำให้รถกระตุกแล้วยังทำให้รถสตาร์ทไม่ติดอีกด้วย 

วิธีแก้ไข ให้ถอดหัวเทียนออกมาตรวจเช็กว่ามีคราบเขม่าหรือไม่ หากมีให้ทำความสะอาดจนหมดคราบและใส่กลับเข้าที่ หรือหากเริ่มสึกหรอควรเปลี่ยนหัวเทียนใหม่

  1. ไส้กรองอากาศสกปรกอุดตัน เป็นอีกตัวการที่ทำให้รถกระตุกเพราะอากาศไม่สามารถเข้าไปที่ห้องเผาไหม้ได้

วิธีแก้ไข ถอดไส้กรองอากาศออกมาล้างทำความสะอาด หรือหากไส้กรองหมดอายุแล้วก็ควรเปลี่ยนใหม่ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนไส้กรองคือทุก 10,000 กิโลเมตร

  1. หัวฉีดน้ำมันสกปรก หากหัวฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มสกปรกหรืออุดตันก็อาจทำให้เครื่องยนต์สั่นได้

วิธีแก้ไข เติมสารล้างหัวฉีดที่สามารถหาซื้อได้ตามปั๊มน้ำมันทั่วไป เติมสารดังกล่าวลงในน้ำมัน อัตราส่วน 1 ขวดต่อน้ำมันเต็มถัง หรือจะนำรถเข้าศูนย์เพื่อถอดล้างหัวฉีดก็ได้เช่นกัน

  1. กรองน้ำมันเชื้อเพลิงตัน กรองน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยกรองและดักจับสิ่งสกปรกที่อาจปะปนมากับน้ำมันเชื้อเพลิง หากกรองน้ำมันเชื้อเพลิงอุดตันก็จะทำให้เครื่องยนต์สั่นได้ เพราะน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายไปที่เครื่องยนต์ไม่ทันกับการใช้งานนั่นเอง

วิธีแก้ไข ถอดกรองน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาเปลี่ยน แต่ควรทำโดยช่างผู้ชำนาญเท่านั้น

ทั้งหมดคือสาเหตุที่ทำให้รถกระตุก เครื่องยนต์สั่น และวิธีแก้ไขเบื้องต้นแต่ทางที่ดีควรนำรถเข้าเช็กตามระยะทางที่กำหนดไว้เสมอ พร้อมบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนใหม่ จะได้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเครื่องยนต์สั่นอีกต่อไป 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *